วันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การนิเทศพัฒนาครู ใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา


ชื่อเรื่อง  การนิเทศพัฒนาครู ใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา โดยใช้ชุดฝึกอบรม

ผู้วิจัย    นางวิมลวรรณ  เปี่ยมจาด

ปีที่ทำการวิจัย  2554

 

บทคัดย่อ

 



การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) สร้างและพัฒนาชุดฝึกอบรม การใช้โปรแกรม                  The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เปรียบเทียบผลการเรียนรู้ ก่อนและหลังการฝึกอบรม       การใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา (3) ศึกษาความคิดเห็นของครูต่อชุดฝึกอบรม การใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา  (4) ศึกษาผลการพัฒนาครู ใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา ในด้านการนำความรู้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และ (5) ศึกษาความพึงพอใจของครู ตอการนิเทศพัฒนาครู ใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา
          กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต           ปีการศึกษา 2554 ที่ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive  Sampling)  จำนวน 30 คน ซึ่งมีความสนใจเข้าร่วมการอบรม และยังไม่เคยผ่านการอบรมการใช้โปรแกรม  The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์มาก่อน          
            เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ประกอบด้วย  ชุดฝึกอบรมการใช้โปรแกรม               The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา                  แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 เล่ม  แบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้ เรื่องการใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา แบบสอบถามความคิดเห็น         แบบสัมภาษณ์ผลการพัฒนาครูใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา และแบบสอบถามความพึงพอใจของครูที่มีต่อการนิเทศ ระยะเวลาในการสร้างและพัฒนาชุดฝึกอบรมตลอดจนการเก็บรวบรวมข้อมูลดำเนินการในปีงบประมาณ 2554  ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2554 – มีนาคม 2555 ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐานได้แก่  ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบผลการเรียนรู้ของครู ก่อนและหลังการฝึกอบรม       ด้วยสถิติทดสอบที (t-test)  วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ  ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
          1.  ชุดฝึกอบรมการใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา ที่สร้างและพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ  84.27/83.00 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์  80/80 ที่ตั้งไว้
          2.  คะแนนผลการเรียนรู้ เรื่องการใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP)         ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา หลังการฝึกอบรม สูงกว่าก่อนการฝึกอบรม  อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01
          3.  ผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นของครูที่มีต่อชุดฝึกอบรมโดยรวมพบว่า ครูเห็นด้วยกับรายการข้อคำถามต่าง ๆ ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมาได้แก่ ด้านสื่อและแหล่งเรียนรู้  ด้านการวัดประเมินผล ด้านเนื้อหา และด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ตามลำดับ
          4.  ครูที่ได้รับการพัฒนา ใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา นำความรู้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยผลิตสื่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์ นำไปเป็นสื่อประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในเนื้อหาต่าง ๆ  และขยายผลให้แก่นักเรียน
          5. ครูมีความพึงพอใจต่อการนิเทศพัฒนาครูใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ในการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน


 

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

การกรอกข้อมูลความสามารถใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้และนำเสนองาน

                  ขอความกรุณาทุกโรงเรียน กรอกข้อมูลจำนวนนักเรียนด้านความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ในการเรียนรู้และนำเสนอผลงาน โดยใช้ข้อมูลจากผลการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษา ตามมาตรฐานที่ 3 ตัวบ่งชี้ที่ 3.4 ในปีการศึกษา 2554  กรอกข้อมูลจำแนกตามระดับชั้น และระดับผลการประเมิน
                                         
                          คลิกเพื่อกรอกข้อมูล



วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

แนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อฝึกคิดแก้ปัญหา


แนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อฝึกคิดแก้ปัญหา

          เรามักได้ยินอยู่เสมอเมื่อผลการทดสอบในระดับต่าง ๆ ออกมาในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นการสอบ NT (National Test) การสอบขั้นพื้นฐานระดับชาติ O-NET (Ordinary National Education Test) การทดสอบตามโครงการประเมินนักเรียนนานาชาติ (PISA) ว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต่ำ ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ เด็กไทยคิดไม่เป็น แก้ปัญหาไม่ได้ ซึ่งสุดท้ายผลมาตกที่ครูผู้เป็นจำเลยสังคมว่า ครูไม่สามารถสอนให้เด็กคิดเป็นและแก้ปัญหาได้  หากแต่ความเป็นจริงแล้วการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบและร่วมกันลบข้อกล่าวหาดังกล่าว ทั้งครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ตัวนักเรียนเอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทุกระดับ

          การคิดแก้ปัญหา  หมายถึง  ความสามารถทางสมองที่จะคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างพินิจพิเคราะห์ถึงสิ่งต่างๆ ที่เป็นปมประเด็นสำคัญที่ทำให้สภาวะความไม่สมดุลเกิดขึ้น โดยพยายามหาหนทางคลี่คลายขจัดปัดเป่าประเด็นสำคัญเหล่านั้นให้กลับเข้าสู่สภาวะสมดุล หรือสภาวะที่เราคาดหวังนักการศึกษา ได้เสนอแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อฝึกคิดแก้ปัญหา สรุปได้ดังนี้

1.    ฝึกคิดตั้งคำถาม กระตุ้นให้นักเรียนตั้งคำถาม ครูอาจนำภาพ อ่านเรื่อง บทความ ดูเรื่องสั้น แล้วให้นักเรียนฝึกการตั้งคำถาม ในขั้นตอนนี้ครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนคิดคำถามออกมาให้ได้มากๆ โดยคำถามเหล่านั้นต้องเป็นสิ่งที่หาคำตอบได้ โดยใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์

2.     ฝึกการพูดคุยปรึกษาหารือ ฝึกการอภิปรายโดยใช้เหตุผล ในการค้นหาคำตอบ ฝึกให้นักเรียนรู้จักวิจารณ์ 

3.    ฝึกการรวบรวมข้อมูล ค้นหาว่าอะไรคือปัญหา อะไรคือสาเหตุของปัญหา

4.    ฝึกการตรวจสอบข้อมูล แหล่งข้อมูล ความเป็นไปได้ ความน่าเชื่อถือของข้อมูล

5.    ฝึกให้นักเรียนรู้การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และฝึกให้รู้จักแสดงความคิดเห็น 

6.    จัดสิ่งเร้าหรือการกระตุ้นที่ดี  เสนอปัญหาหรือประเด็นที่ท้าทายน่าสนใจและมีวิธีการแก้ปัญหาได้หลายวิธีมาให้นักเรียนฝึก

7.    จัดบรรยากาศหรือจัดสิ่งแวดล้อมให้สามารถเปลี่ยนแปลงได้  เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกว่าเขาสามารถคิดค้นเปลี่ยนแปลง  และมีอิสระในการคิด  กล้าคิด กล้าแสดงออก

ทั้งนี้ครู หรือผู้ปกครองควรส่งเสริมความมั่นใจของเด็ก ด้วยการให้ความสำคัญ รับฟัง และอย่าเพิ่งบอกว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นผิด ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเขาสูญเสียความมั่นใจ จะทำให้เด็กไม่กล้าคิดที่สำคัญอาจไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็กโดยไม่รู้ตัว